รู้จักโรคไฟลามทุ่ง โรคผิวหนังที่ไม่ธรรมดา

โรคผิวหนังติดเชื้อมีอยู่หลายชนิด แต่โรคผิวหนังชื่อ “โรคไฟลามทุ่ง ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นเคย แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจะกลายเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อ  มาทำความรู้จักโรคผิวหนังชนิดนี้กัน บอกเลยไม่ธรรมดา

“โรคไฟลามทุ่ง”คือโรคอะไร? 

โรคไฟลามทุ่ง เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ถ้าติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นตื้นก็จะเห็นผื่นแดงมีขอบชัดเจน แต่หากการติดเชื้อลึกลงไปในที่ชั้นหนังแท้และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ก็จะทำให้ผื่นแดงมีขอบที่ไม่ชัดเจน ถ้าการติดเชื้อลามไปที่กล้ามเนื้อจะเรียกว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ซึ่งจะเริ่มเห็นเนื้อตาย ที่มีลักษณะเป็นผื่นสีดำคล้ำ ภาวะไฟลามทุ่งและโรคแบคทีเรียกินเนื้อเป็นโรคที่อันตราย อาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือด  

สาเหตุของโรคไฟลามทุ่งคืออะไร ? 

เชื้อแบคทีเรีย เบตา เฮโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Beta-Hemolytic Streptococcus) หรือ สเตรปโตคอคคัส ไพโอจีนัส(Streptococcus pyogenes) ที่อยู่ในผิวหนังของคนเรา และปกติไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่เมื่อผิวหนังเกิดการความผิดปกติ เช่น มีแผล บวม แดง แผลพุพอง เป็นผื่น ติดเชื้อรา โรคสะเก็ดเงิน โรคน้ำกัดเท้า เชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อข้าสู่ผิวหนังในชั้นหนังแท้ตามมา 

อาการของโรคไฟลามทุ่งมีอะไรบ้าง? 

1.ผิวหนังบวม แดง อักเสบ และเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว 

  1. มีผิวหนังลอกออกเป็นขุย

3.เมื่อสัมผัสผิวหนังที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บ ปวด แสบร้อน และอาจมีเลือดไหล เป็นรอยจ้ำเขียว 

4.มีตุ่มน้ำพองนูนขึ้นมา 

5.อาการร่วมอื่นๆ เช่น เป็นไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไฟลามทุ่ง? 

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ  ได้แก่ 

  1. ผู้ที่มีแผลที่เท้า ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อแบคทีเรียไฟลามทุ่ง
  2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ

วิธีป้องกันโรคไฟลามทุ่ง 

การป้องกันโรคที่สำคัญ คือ การดูแลไม่ให้เกิดแผลที่เท้า ป้องกันการเกิดเป็นเชื้อรา หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่อาจจะทำให้เกิดแผลได้ รวมถึงการควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ก็จะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค 

โรคไฟลามทุ่ง เป็นโรคผิวหนังที่อันตรายหากไม่ได้รับการรักษา เพราะจะกลายเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้ออันตรายถึงชีวิตได้ ควรหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการสงสัยควรรีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง